ข้อมูลสาธารณรัฐอินโดนีเซีย (Republic of Indonesia)
เป็นประเทศที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในกลุ่มอาเซียน ประชากรเกือบครึ่งหนึ่งของประเทศอยู่ในกำลังแรงงาน และมีแนวโน้มว่ากลุ่มชนชั้นกลาง จะมีการขยายตัวอันจะนำไปสู่ความต้องการที่เพิ่มขึ้นของผู้บริโภคในด้านสินค้าและบริการ
นอกจากนี้อินโดนีเซียยังอุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติจำนวนมากที่ดึงดูดความสนใจของนักลงทุนทั่วโลก แม้โดยภาพรวมแล้วอินโดนีเซียยังต้องการการพัฒนาอีกมาก ทั้งในด้านโครงสร้างพื้นฐาน และเทคโนโลยีต่างๆ แต่เศรษฐกิจและการลงทุนในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมานี้มีการพัฒนาที่ดีขึ้นมาก อีกทั้งผลตอบแทนที่ได้จากการลงทุนยังสูงอีกด้วย ประเทศอินโดนีเซียมีการเจริญเติบโตทางธุรกิจที่มั่นคงมาโดยตลอด โดยแรงสนับสนุนจากรัฐบาลในการปฏิรูปประเทศให้เป็นแหล่งดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ ในอดีตการจ้างงานและผลิตภัณฑ์ต่างๆ ล้วนมาจากภาคเกษตรกรรมทั้งสิ้น แต่ภายหลังภาคอุตสาหกรรม ภาคการผลิต และภาคบริการเริ่มมีบทบาทมากขึ้น ในส่วนของภาคบริการนั้นจะเน้นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว การค้าปลีกและส่ง ซึ่งคิดเป็น 20% ของ GDP
ภูมิประเทศและภูมิอากาศ
อินโดนีเซียเป็นหมู่เกาะที่ใหญ่ที่สุดในโลก ตั้งอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ระหว่างมหาสมุทรแปซิฟิกกับมหาสมุทรอินเดียและระหว่างทวีปเอเชียกับออสเตรเลีย อินโดนีเซียมีรูปร่างคล้ายพระจันทรห์หงายครึ่งซีก มีพื้นที่ 5,070,606 ตารางกิโลเมตร หรือใหญ่กว่าประเทศไทยประมาณ 10 เท่า เป็นพื้นดิน 1,904,443 ตารางกิโลเมตร และทะเล 3,166,163 ตารางกิโลเมตร ประกอบด้วยเกาะใหญ่น้อยกว่า 17,500 เกาะ แต่มีประชากรอาศัยอยู่เพียง 3,000 เกาะเท่านั้น โดยจาการ์ตา (Jakarta) หรือในอดีตชื่อ “ปัตตาเวีย” (Batavia) คือเมืองหลวงและเมืองใหญ่ที่สุดของอินโดนีเซีย
อาณาเขตทิศเหนือติดกับรัฐซาราวักและซาบาห์ของมาเลเซีย ทิศตะวันออกติดกับปาปัวนิวกินี ทิศตะวันตกเฉียงเหนือจรดน่านน้ำของสหพันธรัฐมาเลเซีย โดยมีช่องแคบมะละกาเป็นพรมแดนกั้นระหว่างเกาะสุมาตราของอินโดนีเซียกับประเทศมาเลเซีย และเนื่องจากอินโดนีเซียเป็นหมู่เกาะสภาพภูมิอากาศจึงมีลักษณะผสมผสานและเปลี่ยนแปลงไปตามภูมิประเทศโดยทั่วไปมีอากาศร้อนชื้นแบบศูนย์สูตรแบ่งเป็น 2 ฤดู คือ ฤดูแล้ง ระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงตุลาคม และฤดูฝน ระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงเมษายน
ประชากร
อินโดนีเซียมีประชากรประมาณ 248 ล้านคน มากเป็นอันดับ 4 ของโลก มีเชื้อชาติต่างๆ คือ ชาวชวา 41.7%
ชาวซุนดา 15.4% ชาวมาเลย์ 3.4% ชาวมาดูรีส 3.3% ชาวบาตัก 3% ชาวมีนังกาเบา 2.7%
ชาวเบตาวี 2.5% ชาวบูกิน 2.5% ชาวบันเทน 2.1% ชาวบันจารี 1.7% ชาวบาหลี 1.5%
ชาวซาซะก์ 1.3% ชาวมากัสซาร์ 1% ชาวเชรีบอน 0.9% ชาวจีน 0.9% อื่นๆ 16.1%
ภาษา :
ภาษาราชการของอินโดนีเซีย คือ Bahasa Indonesia หรือภาษาอินโดนีเซีย แต่ทั้งนี้ภาษาท้องถิ่นที่มีผู้พูดได้เกิน 1 ล้านคนมีถึง 13 ภาษา โดยภาษาชวามีมากที่สุดคือร้อยละ 45 ของจำนวนประชากรทั้งหมด รองลงมาคือ Sundanese ร้อยละ 14 Madurese ร้อยละ 7.5 Coastal Malays ร้อยละ 7.5 และอื่นๆ ร้อยละ 26
สกุลเงิน :
สกุลเงินของอินโดนีเชียคือ รูเปียห์ โดยมีอัตราแลกเปลี่ยนที่ 10,000 รูเปียห์ ประมาณ 32.63 บาท (สถานะ 29 มกราคม 2556)